"ธนาคารไทยพาณิชย์" เดินหน้าความยั่งยืนให้กับสังคมไทย ประกาศความพร้อมเปลี่ยนขวดน้ำดื่มเพื่อใช้ในกิจกรรมองค์กรเป็น "พลาสติกรีไซเคิล 100%" สร้างคุณค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ธนาคารไทยพาณิชย์ ตระหนักถึงบทบาทในการเป็นตัวกลางที่จะผลักดันสังคมยั่งยืน ด้วยเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่ Net Zero จากแผนการดำเนินงานภายในของธนาคารภายในปี 2030 และจากการให้สินเชื่อและการลงทุนภายในปี 2050 แม้ว่าสถาบันการเงินจะเป็นธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ แต่ธนาคารก็ยังให้ความสำคัญที่จะบูรณาการแนวทางการปฏิบัติงานภายในที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยในปีนี้ได้ริเริ่มลดการใช้พลาสติกภายในองค์กร จากการเปลี่ยนขวดน้ำดื่มที่ใช้สำหรับกิจกรรมต่างๆ ของธนาคาร เป็นขวดน้ำที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล 100% จำนวนปีละกว่า 1.3 ล้านขวด โดยเป็นธนาคารแรกที่ริเริ่มใช้ขวดประเภทดังกล่าว
ด้วยความห่วงใยถึงความสะอาดและความปลอดภัยของลูกค้าและผู้บริโภค ธนาคารจึงได้เลือกใช้ขวดน้ำดื่ม rPET (Recycled Polyethylene Terephthalate) ซึ่งเป็นขวดพลาสติกที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลด้วยเทคโนโลยีการรีไซเคิลพลาสติกมาตรฐานยุโรปที่ทันสมัย โดยโรงงานรีไซเคิลพลาสติกคุณภาพสูง ENVICCO หนึ่งใน GC Group ที่ได้รับรองมาตรฐานคุณภาพความสะอาดและความปลอดภัยจากองค์การอาหารและยา (อย.) และมาตรฐานจาก อย.สหรัฐ rPET นับเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาขยะพลาสติกปิดเส้นทางขยะสู่หลุมฝังกลบ โดยหมุนเวียนพลาสติกใช้แล้วในประเทศไทยให้กลับมาเป็นทรัพยากรสำหรับการขึ้นรูปเป็นขวดน้ำใหม่ สามารถลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ขวดน้ำดื่ม "น้ำใจไทยพาณิชย์ rPET" โฉมใหม่ได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิด "Sustainable Bloom" ความยั่งยืนที่เบ่งบานสู่อนาคต นำเสนอในลวดลายดอกไม้หลากสีรวม 17 สี อันสื่อถึง 17 เป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งยังเป็นตัวแทนแสดงเจตจำนงของธนาคารที่จะส่งมอบความยั่งยืนให้แก่สังคมและดูแลสิ่งแวดล้อมให้กับโลกใบนี้
ทั้งนี้ การใช้ขวด rPET สามารถลดปริมาณขยะฝังกลบและขยะที่ถูกทิ้งลงทะเล ลดมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม ขวดน้ำดื่ม "น้ำใจไทยพาณิชย์ rPET" ขนาดบรรจุ 320 มิลลิลิตร จำนวน 1.3 ล้านขวด นับเป็นการรีไซเคิลพลาสติกกลับมาผลิตเป็นขวดบรรจุภัณฑ์ใหม่ได้อย่างไม่รู้จบ แม้จะดูเป็นจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับขวดน้ำในอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่การลดปริมาณพลาสติกใหม่จำนวน 1.3 ล้านขวดเทียบเท่ากับการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากต้นไม้ 2,200 ต้นในเวลา 1 ปี และคิดเป็นการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการใช้เม็ดพลาสติกผลิตขวดน้ำแบบเดิมถึง 60%
ตามแผนงานการมุ่งสู่ Net Zero ผ่านการปฏิบัติงานภายในธนาคารไทยพาณิชย์ในปี 2030 นั้น การเปลี่ยนขวดน้ำดื่มเป็นขวด rPET จำนวน 1.3 ล้านขวดต่อปี ในช่วงปี 2024-2030 คิดเป็นปริมาณขวด rPET รวมประมาณ 8 ล้านขวด เทียบเท่ากับการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากต้นไม้ได้ถึง 13,500 ต้น สามารถบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลกได้ในระยะยาว
นอกจากเปลี่ยนขวดน้ำดื่มเป็น "น้ำใจไทยพาณิชย์ rPET" แล้ว ธนาคารยังมีโครงการปลูกฝังจิตสำนึกพนักงานในการลดการใช้ขวดพลาสติกภายในชีวิตประจำวัน ด้วยการรณรงค์การนำกระบอกน้ำหรือบรรจุภัณฑ์ส่วนตัวที่ทนทานและใช้ซ้ำได้มาใช้เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดปัญหาขยะพลาสติก และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
พร้อมกันนี้ในอนาคต ธนาคารได้วางนโยบายขยายผลเพิ่มการเก็บกลับขวดพลาสติกใช้แล้วโดยร่วมมือกับ GC YOUเทิร์น แพลตฟอร์มบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้ว เพื่อนำขวดพลาสติกเข้าสู่ระบบเพิ่มปริมาณการรีไซเคิล และนำกลับมาสร้างประโยชน์ใหม่ให้ได้มากที่สุดตามแนวเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปูทางสู่เป้าหมาย Net Zero ของทั้งสององค์กร ร่วมสร้างโลกที่ยั่งยืน